วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2551

~~~ช็อกโกแลตดำปรับความดันโลหิตให้สมดุล ~~~

ช็อกโกแลตดำนอกจากจะเป็นของหวานแสนอร่อย ยังมีคุณสมบัติปรับความดันโลหิตให้สมดุลย์
ผลการศึกษาล่าสุดของสมาคมหัวใจอเมริกันนำโดยเจฟเฟรย์ บลัมเบิร์ก จากมหาวิทยาลัยตัฟต์ บอสตันชี้ว่า สารฟลาโวนอยด์ในช็อกโกแลตดำสามารถลดความดันเลือดนำไปสู่การลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ "การศึกษาก่อนหน้านี้เราพบว่าสารฟลาโวนอยด์พบมากในผลไม้ ผัก ชา ไวน์แดง และช็อกโกแลต ที่เป็นผลดีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ แต่นี่เป็นการวิจัยครั้งแรกที่ตั้งสมมติฐานเฉพาะเจาะจงว่าช็อกโกแลตดำสามารถลดความดันโลหิตในกลุ่มคนที่มีความดันสูงได้ การศึกษานี้ไม่ใช่แนะให้กินช็อกโกแลตดำเพิ่มขึ้น แต่เน้นว่าสารโกโก้ ฟลาโวนอยด์ มีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบหลอดเลือดหัวใจและระบบควบคุมอินซูลิน"
จากการศึกษาชายและหญิงอย่างละ 10 คนที่เป็นโรคความดันสูง ให้กลุ่มทดลองรับประทานช็อกโกแลตดำแท่งขนาด 100 กรัม ที่อุดมด้วยสารฟลาโวนอยด์ ขณะที่กลุ่มควบคุมให้รับประทานช็อกโกแลตขาวขนาดเท่ากัน เป็นเวลา 15 วัน ช็อกโกแลตขาวซึ่งไม่มีสารฟลาโวนอยด์ แต่มีสารอาหารและแคลอรีเหมือนช็อกโกแลตดำทุกอย่าง เมื่ออาสาสมัครกินช็อกโกแลตดำ พบว่าความดันเลือดลดลงเฉลี่ย 9 mm. Hg แต่เมื่อกินช็อกโกแลตขาว ความดันไม่เปลี่ยนแปลง การกินช็อกโกแลตดำสามารถปรับปรุงการใช้อินซูลินของร่างกายและยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL ที่ไม่ดีต่อร่างกายลงเฉลี่ยร้อยละ 10 สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงผลทางสถิติที่น่าพอใจ แต่ยังเป็นผลทางการแพทย์ที่มีคุณค่ามากอีกด้วย

อืมม ก้อคือ ว่าเราไปเจอมาคิดว่าคงมีประโยชน์กับเพื่อนๆนะ อิอิ เพื่อนๆก็คงจะได้รู้ถึงประโยชน์ของช๊อกโกแล๊ตแล้วนะ

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วันปิยมหาราช


๒๓ ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทุกปีจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้นนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของหวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราช หรือพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้งเมื่อบรรจบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายตามราชประเพณี โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหา-เศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคมส่วนที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าที่นั่งอนันตสมาคม ที่เรียกว่าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างประดิษฐานขึ้นน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ทรงพระชนม์อยู่เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์ยั่งยืนนานถึง ๔๐ ปี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคมซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้หยุดราชการวันหนึ่งในวันปิยมหาราช เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น กรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็นสำนักพระราชวัง ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติ ฉัตร ๕ ชั้น ประดับโคม ไฟ ราวเทียม กระถางธูป ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรก คือ ถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้ว ได้เสด็จฯไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์

วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551


"แกงเลียง" มีผลยับยั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่

ทั้งนี้ รายละเอียดของการวิจัย คณะผู้วิจัยอธิบายตั้งแต่แรกเริ่มว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคหนึ่งที่พบได้มากในประชากรโลก และมีแนวโน้มเป็นมากขึ้นในประชากรไทย

สาเหตุหลักมาจากรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป จากหลักฐานการวิจัยพบว่าการบริโภคอาหารที่มีผัก ผลไม้ อยู่มากช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

ดังนั้น การบริโภคแกงเลียง ซึ่งเป็นอาหารไทยที่มีส่วนประกอบหลักเป็นพืชผัก สมุนไพร และเครื่องเทศ ให้พลังงานต่ำ มีสารอาหารและสารสำคัญต่างๆ จากพืช เช่น แคโรทีน และใยอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมาก "จึงทำการศึกษาผลของการกินแกงเลียงดังกล่าวในปริมาณ 1 และ 2 หน่วยบริโภคต่อวัน (เทียบเท่ากับผงแห้งของแกงเลียงปริมาณ 0.032 g และ 0.064 g ต่อน้ำหนักตัวหนู 100 g ตามลำดับ) ในหนูแรทสายพันธุ์วิสตาร์ โดยการละลายผงแกงเลียงในน้ำกลั่น และป้อนให้หนูกินป็นเวลา 6 สัปดาห์ แล้วฉีดสารก่อมะเร็งเข้าทางหน้าท้องหนู ทั้งหมด 2 ครั้ง ในสัปดาห์ที่ 3 และ 4 "

ซึ่งผลการศึกษาพบว่าการได้รับแกงเลียง 2 หน่วยบริโภคต่อการทำงานของเอ็นไซม์ NAD(P)H : quinone reductase (QR) ในตับหนูนั้น แกงเลียงมีผลต่อการสร้างเอ็นไซม์ NAD(P)H : quinone reductase ในตับ และการยับยั้งการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหนูดังกล่าว"

การทดลองในหนู ได้แบ่งหนูออกเป็นกลุ่มๆ 5 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมปกติที่ได้รับ NSS และไม่ได้รับแกงเลียง กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับสารก่อมะเร็งและไม่ได้รับแกงเลียง กลุ่มที่ 3 ได้รับสารก่อมะเร็ง และแกงเลียง 1 หน่วยบริโภค ส่วนกลุ่มที่ 4 ได้รับสารก่อมะเร็งและแกงเลียง 2 หน่วยบริโภค และกลุ่มที่ 5 ได้รับ NSS และแกงเลียง 2 หน่วยบริโภค "เมื่อสิ้นสุดการให้อาหาร เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวิเคราะห์หาสารอาหารและสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับเก็บเนื้อเยื่อตับและลำไส้เพื่อวัดการทำงานของเอ็นไซม์ QR และการเกิด ACF พบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับแกงเลียง 2 หน่วยบริโภค มีระดับเรตินอลในน้ำเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการตรวจระดับการทำงานของเอ็นไซม์ QR พบว่าหนูกลุ่มที่ 5 ซึ่งได้รับแกงเลียงเป็น 2 หน่วยบริโภค มีระดับการทำงานของเอ็นไซม์ QR ในตับสูงกว่ากลุ่มควบคุมปกติ (กลุ่ม 1) ประมาณ 2.7 เท่า "

ผลการศึกษาสรุปได้ว่า แกงเลียงสามารถเหนี่ยวนำการทำงานของเอ็นไซม์ QR ในตับ และลดการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ของหนูทดลองได้ จึงอาจมีศักยภาพในการป้องกันการเกิดมะเร็งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่..."

แม้การทดลองนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลองในห้องแล็บ แต่ผลที่ได้เป็นการจุดประกายความหวังให้กับผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้อยู่ไม่น้อย

เพราะทุกวันนี้โรคมะเร็งยังเป็นโรคน่ากลัวร้ายกาจสำหรับมนุษย์ ยังหายารักษาให้หายขาดไม่ได้ หนำซ้ำคนที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งในปัจจุบันก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที หาก "แกงเลียง" มีคุณสมบัติตามที่ได้วิจัยศึกษา แล้วมีการนำมาพัฒนาต่อยอด อาหารไทยคงได้ชื่อเพิ่มขึ้นมาอีกอย่าง