วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551


สูดควันธูปเสี่ยงมะเร็ง



กลายเป็นข่าวดังชั่วข้ามคืนเมื่อทีมนักวิจัยไทยพบว่า ควันธูป มีสารก่อมะเร็งและมีศักยภาพในการซ่อมแซมความผิดปกติของสารพันธุกรรมที่ลดลงในผู้ที่ได้รับควันธูปเป็นประจำ นับเป็นกลไกส่วนหนึ่งในการเหนี่ยวนำให้เกิดโรคมะเร็งได้ และการใช้ผ้าปิดจมูกไม่สามารถปิดกั้นสารกลุ่มนี้ได้ เนื่องจากควันธูปมีอนุภาคที่เล็กมาก

โดยจากข้อมูลในงานนำเสนอผลงานวิจัย "สารก่อมะเร็ง : ภัยเงียบที่มากับควันธูป" ณ อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าไอซียูโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ร่วมกับ ดร.พนิดา นวสัมฟทธิ์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ทำการวิจัยเรื่องการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของคนทำงานในวัด จากการสูดดมควันธูปซึ่งมีสารก่อมะเร็ง เนื่องจากพบว่าปัจจุบันโรคมะเร็งปอด เป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการตายอันดับต้น ๆ ของโรคมะเร็งที่พบมากทั้งเพศชายและเพศหญิง ถึงแม้ว่าสาเหตุการเกิดโรคส่วนใหญ่จะมาจากการสูบบุหรี่หรือได้รับมลพิษ แต่จากสถิติผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าร้อยละ 50 ไม่พบประวัติการสูบบุหรี่หรืออยู่ใก้ชิดกับผู้สูบบุหรี่


นพ.มนูญ ยังกล่าวต่อว่า ทีมวิจัยได้ทำการตรวจหาปริมาณสารก่อมะเร็งในอากาศซึ่งมีการจุดธูปปริมาณมากในวัด 3 แห่ง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ พร้อมทั้งทำการตรวจเลือดและปัสสาวะของคนทำงานของคนงานที่ปฏิบัติงานในวัดจำนวน 40 คน เปรียบเทียบกับคนงานส่วนใหญ่ที่ไม่มีการจุดธูปจำนวน 25 คน จากผลการวิจัยพบสารก่อมะเร็งในควันธูป 3 ชนิด คือ เบนซิน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน ซึ่งสารกลุ้มนี้ล้วนได้รับการยืนยันจากทั่วโลกว่าเป็นสารก่อมะเร็ง และปริมาณที่พบยังเข้มข้นสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้หลายสิบเท่า ซึ่งหากเปรียบเทียบง่าย ๆ จะพบว่า ธูป 1 ดอกที่จุด มีปริมาณสารก่อมะเร็งไม่ต่างจากบุหรี่ 1 มวนเลยทีเดียว นอกจากสารก่อมะเร็งที่พบในควันธูปยังต็มไปด้วยฝุ่นละออง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ และมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่เป็นต้นเหตุการเกิดภาวะโลกร้อน โดยมีผู้ทำการวิจัยและรายงานไว้ว่าการจุดธูป 1 ดอกจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเท่ากับ 1 ใน 3 ของน้ำหนักธูป และหากจุดธูป 3 ดอก จะสามารถปล่อยมลพิษและสารก่อมะเร็งได้เท่ากับสี่แยกไฟแดงที่มีการจราจรคับคั่ง

นพ.มนูญ ยังได้กล่าวอีกว่า ธูปทุกชนิดล้วนมีสารก่อมะเร็งทั้งสิ้น ขณะที่ธูปไร้ควันและธูปอโรมา เคยมีงานวิจัยออกมาพบว่า มีการปล่อยสารเบนซินมากกว่าธูปธรรมดาด้วยซ้ำไป ถึงอย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรมีการรณรงค์เรื่องนี้ เช่น การรณรงค์ดับธูปก่อนปักลงกระถางเพื่อลดควัน หรือหลังจากจุดธูปเพื่ออธิษฐานแล้วให้ดับธูปทันที และในอนาคตภาคอุตสาหกรรมควรมีการผลิตธูปที่เมื่อจุดแล้วดับได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคนี้

ไม่มีความคิดเห็น: