วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2550

เด็กเสียเวลาหน้าจอวันละกว่า 2 ชม. อาจมีปัญหา เรื่องความสนใจตอนโต


ผลการศึกษาในนิวซีแลนด์พบว่าการที่เด็กดูโทรทัศน์เป็นเวลานานมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงยังเล็กอยู่ อาจจะนำไปสู่ปัญหาเรื่องความสนใจในช่วงวัยรุ่นได้


การศึกษาระยะยาวเกี่ยวกับเรื่องนิสัยและพฤติกรรมของเด็กกว่า 1,000 คนที่เกิดในเมืองดูเนดิน ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างเดือนเมษายน 2515- มีนาคม 2516 เด็กที่มีอายุ 5-11 ขวบ ใช้เวลาดูโทรทัศน์เฉลี่ย 2.05 ชม.ในวันระหว่างสัปดาห์ สำหรับเด็กอายุ 13-15 ปี ใช้เวลาโดยเฉลี่ยอยู่หน้าจอทีวี วันละ 3.1 ชม.


“คนที่ดูทีวีมากกว่า 2 ชั่วโมงและโดยเฉพาะคนที่ดูทีวีมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันระหว่างวัยเด็กนั้น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะมีปัญหาในกลุ่มอาการเรื่องความสนใจในช่วงวัยรุ่น” คาร์ล ลานดุส จากมหาวิทยาลัยโอตาโก ในดูเนดิน รายงานในวารสารกุมารเวชศาสตร์
รายงานกล่าวด้วยว่า เด็กเล็กที่ใช้เวลาดูทีวีมากๆ จะยังคงดำเนินลักษณะนิสัยนั้นต่อไปเมื่ออายุมากขึ้น แต่ถ้าหากว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นแล้ว จุดนี้จึงเป็นข้อเสนอแนะว่าผลกระทบจากการดูโทรทัศน์ต่อปัญหาเรื่องความสนใจนั้น อาจจะมีอยู่อย่างยาวนานและคงต้องมีปัจจัยอีกหลายประการประกอบกัน ตัวอย่างเช่น การที่รายการทีวีมีการเปลี่ยนฉากอย่างรวดเร็วปรากฏโดยทั่วไปนั้น อาจจะไปกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของเด็กมากเกินไป และเมื่อเปรียบเทียบกับโลกความจริงแล้วทำให้น่าเบื่อ


อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้ไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ว่า การดูโทรทัศน์เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาเรื่องความสนใจ เพราะตัวเด็กเองอาจจะมีแนวโน้มที่จะมีปัญหานั้นอยู่แล้ว แต่การดูโทรทัศน์มีส่วนเข้ามาชักจูงให้เป็นมากขึ้น.



ไม่มีความคิดเห็น: